วันจันทร์ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2553

รวมบทความ การเลี้ยงดู และพฤติกรรมเด็กวัย 3 ขวบ

บทความข้างล่าง ลองมาแบ่งปันกันค่ะ สำหรับบทความแรกนี้ ไม่ทราบว่าท่านใดเขียน เลยไม่ได้ลงเครดิตให้ เพราะลอกกันต่อ ๆ มา ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ 



เมื่อเด็กอายุ2-3ขวบ
จะสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง ได้หลายอย่างแล้ว เลิกใช้ผ้าอ้อม และกินข้าวได้เอง จดจำคำพูดได้มากจนกระทั่งคุยกับผู้ใหญ่รู้เรื่อง และเป็นตัวของตัวเอง
เมื่อคนเราเริ่มเป็นตัวของตัวเอง ย่อมมีความต้องการอยู่กับพวกพ้อง เด็กจึงอยากเล่นกับเพื่อน แต่เมื่อให้เล่นกับเพื่อนจริงๆ เด็กวัยนี้ยังเล่นไม่ค่อยได้ เดี๋ยวเดียวก็ทะเลาะกัน


เด็กรู้จักพึ่งตนเองบ้างแล้ว แต่ยังไม่รู้จักการร่วมมือกับคนอื่น และถ้าขาดความร่วมมือก็จะอยู่ในสังคมไม่ได้
ในสังคมเมือง การอบอรมเด็กวัย2-3ขวบนี้ มีปัญหาอยู่ที่การหัดให้เด็กรู้จัก ร่วมมือปรองดองกับคนอื่น ครอบครัวสามารถสอนให้เด็ก รู้จักพึ่งคนเองได้ แต่เด็กไม่ค่อยยอมร่วมมือ แม้แต่พ่อกับแม่ เรามักเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า”วัยต่อต้าน”

วัยต่อต้านนี้ มิได้เกิดขึ้นกับเด็กทุกคน แต่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กที่ถูกเลี้ยง อยู่แต่ในครอบครัว เด็กที่ถูกเลี้ยงรวมหมู่ ในสถานเลี้ยงเด็กจะไม่มี”วัยต่อต้าน” และเมื่อถึงวัย2-3ขวบนี้ เด็กที่อยู่รวมหมู่ จะเริ่มรู้จักเล่นกับเพื่อน ด้วยความสามารถสามัคคีปรองดองกัน

การที่เด็กมี”วัยต่อต้าน”นั้น เป็นเพราะถูกเลี้ยงดูแต่เฉพาะในครอบครัว ซึ่งไม่สามารถสอนให้เด็ก รู้จักความร่วมมือกับคนอื่น เด็กจึงเกิดอาการ”ต่อต้าน”  เด็กสมัยก่อนและเด็กในชนบท ซึ่งเติบโตขึ้นมาในครอบครัวนั้น มีโอกาสเรียนรู้ เรื่องความร่วมมือเมื่อเริ่มพึ่งตนเองได้ เพราะเด็กสามารถ ออกไปเล่นนอกบ้านได้อย่างอิสระ ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ โดยไม่ต้องกลัวอันตรายจากรถหรือโจรผู้ร้าย

เด็กสมัยก่อนรวมกลุ่มเล่นกันมากๆ มีตั้งแต่เด็กโตจนถึงเด็กรุ่นจิ๋ว เด็กโตยอมให้เด็กเล็กเล่นด้วย เพราะเล่นหลายๆคนสนุกดี ดังนั้นเด็กเล็กๆจึงเรียนรู้เรื่องการ ร่วมมือรอมชอมกันไปตามธรรมชาติ เพราะรู้ว่าถ้าเอาแต่ใจตนเอง แล้วตัวก็จะเข้าร่วมวงเล่นกับคนอื่นไม่ได้

แต่เด็กในเมืองสมัยนี้ ถูกห้ามให้ออกนอกบ้าน เนื่องจากมีภยันตรายนานัปการ และถึงออกไปได้ ก็ไม่มีสนามกว้างให้เด็กได้เล่นร่วมกันเป็น  โดยไม่มีผู้ใหญ่ควบคุม เด็กสมัยก่อนมีโอกาสเช่นนี้ แม้การอบรมเลี้ยงดูในครอบครัวจะเข้มงวด แต่เด็กก็ยังมีช่องสำหรับระบาย

เด็กสมัยนี้ที่ขลุกอยู่แต่ในบ้าน อาศัยโทรทัศน์เป็นเพื่อน และไม่ค่อยได้พูดเล่นหัวกับเพื่อน มักจะพูดช้า บางคนอายุเกือบ3ขวบ แล้วพูดได้เพียงแค่คำว่า พ่อ..แม่..หม่ำ เท่านั้น ทำให้พ่อแม่เกิดความกลัวว่า ลูกของตนจะสติปัญญาด้อยกว่าเด็กคนอื่น แต่ถ้าหูของเด็กฟังเสียงได้ยิน (เมื่อเรียกชื่อจากด้านหลัง แล้วเด็กหันกลับมาก็แปลว่าหูได้ยิน) และทำกิจกรรมอื่น ได้เหมือนเด็กปกติ เด็กจะพูดได้เองแน่นอน เด็กบางคนพูดได้ช้า ตามธรรมชาติของเขา เราไม่ควรใจร้อนนัก แต่ต้องพยายามหาโอกาส ให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน อย่างอิสระบ่อยๆ

เด็กสมัยก่อนและเด็กในชนบท ได้ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้าน เพื่อเผาผลาญพลังงานในกาย แต่เด็กในเมืองสมัยนี้ ต้องหาทางใช้พลังงานนั้นภายในบ้าน บ้านก็แคบกว่าเมื่อก่อน ถ้าอยู่ห้องแถวหรือทาวน์เฮาส์ ยิ่งไม่มีที่เล่นนอกบ้านเลย เด็กต้องการใช้พลังงาน จึงลากเก้าอี้มาต่อเล่นบ้าง ปีนป่ายบันไดบ้าง ปีนตู้ หรือชั้นหนังสือบ้าง เมื่อเด็กเล่นผาดโผนเช่นนี้ ผู้ใหญ่ก็ว่า “นี่เดี๋ยวเก้าอี้พังหมด” “อย่ารื้อของเลอะเทอะซีลูก” “วิ่งเล่นในบ้านไม่ได้นะ”ฯลฯ เมื่อเด็กถูกห้าม และหมดโอกาสที่จะใช้พลังงานส่วนเกิน จึงหันมา “ต่อต้าน” พ่อแม่และผู้ใหญ่ในบ้าน

การที่เด็กโกรธ แกจะร้องไห้อาละวาด หรือขว้างปาสิ่งของนั้น ไม่ใช่เพราะเด็กเกลียดแม่ แต่เพราะเด็กทนอยู่เฉยๆไม่ได้เท่านั้นเอง และมีเด็กบางคนที่ใช้ วิธีระบายอารมณ์ ด้วยการเล่นอวัยวะเพศ

เด็กวัย2ขวบขึ้นไป ควรมีโอกาสได้เล่นกับเพื่อนอย่างอิสระ ในที่กว้าง และมีเครื่องเล่นตามสมควร เด็กที่ถูกเลี้ยงอยู่แต่ในบ้านร้าง ท่ามกลางคลื่นรถยนต์นั้น จะไม่มีโอกาสเรียนรู้วิธีอยู่ในสังคม ด้วยความรอมชอม
สังคมเมืองจึงจำเป็น ต้องมีสถานเลี้ยงเด็ก เพื่อให้เด็กได้เล่นกับเพื่อนจำนวนมาก

สถานเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาลในเมือง มักจะคับแคบ เด็กถูกบังคับให้อยู่แต่ในห้อง เพราะผู้เลี้ยงเกรงว่า ถ้าเกิดอันตรายขึ้นแก่เด็กจะทำให้เสียชื่อเสียง สนามเด็กเล่นส่วนใหญ่ มีเอาไว้ประดับโรงเรียนเท่านั้น เด็กไม่ค่อยได้ออกไปวิ่งเล่น โลดโผนโจนทะยานกันเลย เมื่อถูกอัดให้อยู่แต่ในห้อง พลังงานของเด็กจะถูกอัด อยู่ในร่างกายไม่มีโอกาสระบายออก

อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าการเลี้ยงดูเด็ก ในครอบครัวนั้น ด้อยคุณภาพกว่าการเลี้ยงรวมหมู่ เด็กจำเป็นต้องเรียนรู้ ถึงการอยู่ร่วมกับญาติพี่น้องด้วย นอกจากนั้นเด็กต้องรู้จักอดทน ต่อความเหงา เมื่ออยู่เพียงคนเดียว ไม่มีเพื่อนเล่น มิฉะนั้นอาจจะกลายเป็น คนที่ติดคนอื่นแจ จนขาดความเป็นตัวของตัวเอง
การเลี้ยงดูอบรมเด็กจึงต้อง อาศัยทั้งครอบครัวและการอยู่รวมหมู่ แม้ว่าการเลี้ยงดูในครอบครัว จะไม่ช่วยให้เด็กรู้จักวิธีอยู่เป็นกลุ่ม แต่ก็สามารถสอนให้เด็กรู้จักเล่นคนเดียวได้

เมื่อเด็กอายุเกิน2ขวบ ควรสอนให้เด็กรู้จักเล่นคนเดียว เด็กวัยนี้ไม่ใช้มือกำดินสอเทียนแล้ว แต่จะใช้ปลายนิ้วจับเอาไว้ รู้จักต่อแท่งไม้สูงๆ รู้จักใช้เสียมเล็กๆขุดดิน แม่ควรคิดหาทางใช้ความสามารถ เหล่านี้ของเด็กและหัดให้เล่นคนเดียว

สำหรับเด็กผู้หญิงที่ชอบตุ๊กตา ก็ซื้อตุ๊กตาและชุดหม้อข้าวหม้อแกง หรือชุดเครื่องเรือนให้ และปล่อยให้เล่นคนเดียว ซึ่งมองเห็นแม่ได้ เมื่อเด็กวาดมโนภาพเก่งขึ้นจะ หมกหมุ่นอยู่กับการเล่น จนไม่สนใจแม่ว่าจะอยู่ด้วยหรือไม่ แม้ว่าสนามที่บ้านจะเล็ก มีที่ว่างเพียงวาเดียว ก็น่าจะสร้างสนามทราย ไว้เป็นที่เล่นของเด็ก ที่จะขนของเล่นไปเล่นคนเดียวที่นั่น

สำหรับเด็กที่ชอบหนังสือ ก็ซื้อหนังสือให้ แกจะเปิดดูภาพในหนังสือเพลินทีเดียว เด็กที่ชอบเขียนภาพ ควรหาสีเทียนและกระดาษแผ่นใหญ่ๆ ให้แกขีดเขียนไปพลาง พูดพร่ำพรรณาไปเรื่อย ควรให้กระดาษแผ่นใหญ่ๆ เพราะถ้ากระดาษไม่พอ เด็กจะขีดพื้นขีดผนังบ้าน

วันไหนอากาศร้อน การให้เล่นน้ำจะดีที่สุด เวลาซื้อสระน้ำพลาสติก ไม่ควรเลือกขนาดใหญ่และลึกเกินไป เพราะถ้าเด็กล้มในน้ำแล้วอาจลุกไม่ขึ้น นอกจากนี้ ยังเสียเวลาใส่น้ำเทน้ำอีกด้วย ถ้าแม่ไม่กลัวว่า เสื้อผ้าเด็กจะเปื้อนเปรอเลอะเทอะ ก็หาดินเหนียวมาให้เล่น เด็กจะชอบมากและเล่นอยู่ได้นาน

เด็กที่ชอบดนตรีน่าจะเปิดเพลงให้ฟัง ไม่จำเป็นต้องเป็นเพลงคลาสสิค ลูกทุ่ง ลูกกรุง หรือเพลงแจ๊ส เพลงรำวงก็เพลงเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรปล่อยให้เด็ก เล่นอยู่แต่ในบ้านทั้งวันด้วย การเล่นต่างๆดังกล่าวข้างต้น
พัฒนาการทางร่างกาย ของเด็กวัยนี้ก้าวหน้าเร็วมาก วิ่งเร็วขึ้น และหกล้มน้อยลง เดินด้วยเท้าเปล่าได้ เด็กบางคนสามารถเดินบนท่อนไม้เดียว ที่วางพาดข้ามคูคลองได้ตั้งแต่อายุ3ขวบ และเล่นชิงช้างเองได้โดยไม่กลัว แต่เราต้องไม่ลืมว่า เด็กแต่ละคนมีความสามารถแตกต่างกัน

เด็กวัยนี้สนใจที่จะเล่นกับของเล่นใหญ่ๆ หรือใช้พลังงานในร่างกาย พ่อแม่จะมักซื้อจักรยานสามล้อให้ขี่เล่น แต่การเล่นนอกบ้าน ควรมีเพื่อนเล่นด้วยจึงจะสนุก

ถ้าเด็กยังไม่ไปสถานเลี้ยงเด็ก หรือโรงเรียนอนุบาล เด็กควรมีโอกาสได้เล่นนอกบ้าน กับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน ในสถานที่ที่ปลอดภัยอย่างน้อยวันละครั้ง ประมาณ3-4ชั่วโมง จะช่วยให้ร่างกายของเด็กแข็งแรง
เด็กวัย2ขวบบางคนไม่นอนกลางวันเลย โดยเฉพาะเด็กซน มักเล่นสนุกเพลิดเพลินจนลืมนอน เด็กแบบนี้สมควรบังคับให้นอน หรือไม่ต้องสังเกตเปรียบเทียบเอาว่า ถ้าแกไม่นอนจะเกิดปัญหา สัปหงกตอนเย็นจนกินข้าวไม่ทันหรือไม่ แต่หน้าร้อน ควรให้เด็กนอนกลางวันบ้าง มิฉะนั้นจะเหนื่อยเกินไป และตัวเด็กเองก็คงอยากนอนด้วย เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่ จะนอนรวดเดียวในตอนกลางคืน ตั้งแต่2ทุ่มครึ่ง ถึง7โมงเช้า แต่เด็กบางคนก็ชอบดึก นอน4ทุ่ม ตื่น9โมงเช้า ถ้าพ่อแม่ไม่เดือดร้อน เรื่องเวลานอนของเด็ก ก็ปล่อยเขาไปตามธรรมชาติ

การให้อาหารเด็ก อย่าคำนึงถึงแต่ด้านโภชนาการ ควรหัดให้เด็กพึ่งตนเอง และยินดีตักกินเอง
การจับเด็กนั่งโต๊ะ และมีแม่คอยป้อนใส่ปากให้ทุกคำ หรือพาเดินเที่ยวเล่น ไปพลางป้อนข้าวไปล่างนั้นไม่ควรทำ ความสุขในการกินคือความอยากกินด้วยตนเอง (ไม่ใช่ถูกบังคับ) และความสุขในการร่วมวงกับครอบครัว ซึ่งเป็นความสุขอย่างหนึ่งชีวิตมนุษย์

พ่อแม่ควรตระหนักอยู่เสมอว่า เลี้ยงให้เด็กมีความสุข ดีกว่าเลี้ยงให้เด็กอ้วน เด็กที่เคยอ้วนตัวกลมสมัยก่อน เมื่อเติบโตถึงวัยนี้จะยืดสูงขึ้น แต่น้ำหนักตัวกลับไม่ค่อยเพิ่ม เด็กจึงดูผอมลง แม่อาจพยายามบังคับให้ลูกกินมากขึ้น ด้วยความเป็นห่วง ถ้าแม่นั่งป้อนมือหนึ่งเป็นชั่วโมงทุกวัน เด็กคงกินได้มากกว่า เวลากินด้วยตนเองแน่นอน น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นนิดหน่อย แต่แคลอรีส่วนที่เกินนี้ จะกลายเป็นไขมันอยู่ใต้ผิวหนัง ในทางโภชนาการ

เด็กที่ไม่ค่อยกินข้าว ก็ให้กินนมช่วยได้ ถ้าคิดในทางกลับกันคือ กลัวว่าเด็กกินนมแล้วจะไม่กินข้าว จึงงดนมทั้งหมดให้กินแต่ข้าว กลับมีผลลบในทางโภชนาการ เด็กอายุ2-3ขวบ ควรดื่มนมวันละ2-3ขวด และให้กินขนมบ้างพอควร แต่ถ้าเด็กไม่อยากกินขนม ก็ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดให้กิน มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ยอมกินผัก เมื่อพยายามหาทางต่างๆแล้ว แต่เด็กยังไม่ยอมกิน ก็ต้องให้กินผลไม้แทนไปพลางก่อน

เด็กอายุ2-3ขวบนี้ สามารถบอกฉี่ได้แล้ว แต่ยังมีหลายครั้งที่เด็กเล่นเพลิน จนบอกไม่ทัน จึงทำให้เลอะเทอะ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะเด็กไม่รู้สึกตัว แต่เป็นเพราะเด็กยังถอดกางเกงไม่เก่งจึงไม่ทัน
ดังนั้นแทนที่แม่จะดุว่าเด็ก “รีบบอกเร็วๆหน่อยซิจ๊ะ” ควรสอนวิธีถอดเสื้อผ้าให้ลุกดีกว่า
เด็กวัยนี้ถ้าเราถอดกระดุมให้ก่อนอาบน้ำ เด็กจะถอดเสื้อผ้าเองได้ หรือแม้แต่กระดุม ถ้าเราค่อยๆสอนให้เด็ก หัดถอดทีละเม็ดๆแกก็ทำได้ ใส่รองเท้าเองได้ ก่อนนอนกลางคืน หากแม่พาไปฉี่ให้เรียบร้อยเสียก่อน มีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่อยู่ได้ถึงเช้าโดยไม่ฉี่รดที่นอน นอกจากเวลาอากาศหนาว หรือดื่มนมก่อนนอนเด็กจะทนไม่ไหว

เด็กผู้ชายฉี่รดที่นอนบ่อยกว่าเด็กผู้หญิง สำหรับเด็กวัย2-3ขวบนี้ ประมาณ1ใน10ที่ยังฉี่รดที่นอน
เด็กวัย2-3ขวบเล่นกับเพื่อนมากขึ้น จึงติดโรคต่างๆมามากขึ้น เช่น หัดเยอรมัน อีสุกอีใส คางทูม ฯลฯ เมื่อเด็กมีไข้สูงกระทันหันและเกิดอาการชัก ส่วนใหญ่มักเกิดจากเชื้อไวรัสของไข้หวัด
อาการอาเจียนเป็นระยะ เนื่องจากเหนื่อยเกินไป ก็เกิดขึ้นบ่อยในวัยนี้ เด็กที่เคยเป็นผื่นแพ้ง่ายในวัยทารก และมีเสียงครืดคราดอยู่ในอกเสมอ จะถูกหาว่าเป็น “โรคหืดในเด็ก”ได้ง่าย ขอให้พ่อแม่ทำใจให้มั่นคงเอาไว้ และพยายามช่วยให้ลูก รอดพ้นจากคำกล่าวหานี้ ด้วยการไม่ต้องพาไปฉีดยาประจำ



พฤติกรรมเด็กวัย 3-6 ขวบ..อาการกรี๊ด
บทความวิชาการ..โดย พ.ญ. วินัดดา ปิยะศิลป์

บ้านไหนมีเด็ก คนในบ้านนั้นก็ต้องทำใจต่อเสียงร้องไห้ โวยวาย แต่ถ้าเสียงกรี๊ดร้องของเด็ก นับวันมีบ่อย ๆ ขึ้น และเกิดวันละหลายครั้ง ก็ต้องมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่

สาเหตุที่เด็กกรี๊ด
1. เป็นการแสดงออกถึงความโกรธ ไม่พอใจ หงุดหงิด อาจจะเป็นภาวะปกติในช่วงที่เด็กยังพูดได้ไม่เก่ง (วัย 1 – 3 ปี) ที่เด็กยังแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ไม่พอใจออกมา เมื่อเติบโตขึ้น พฤติกรรมการกรี๊ดร้องจะลดลงจนหายไปหมด แต่เด็กจะพูดออกมาถึงความต้องการหรือคับข้องใจเพิ่มขึ้น
2. เป็นการเรียนรู้ถึงอิทธิพลจากการกรี๊ด ซึ่งทำให้เด็กได้ทุกสิ่งที่ต้องการ เพราะทีผู้คอยเสริมหรือคอยให้ท้าย พร้อมที่จะยินยอมทำตามเด็กทุกอย่าง
3. เลียนแบบพฤติกรรมชอบกรี๊ดจากผู้ใหญ่
4. มีคนยั่วแหย่ให้เด็กโกรธบ่อย ๆ
5. การเลี้ยงดูที่ตามใจมาก ส่งเสริมให้เด็กเอาแต่ใจตัวเอง
ไม่สอนให้หัดควบคุมอารมณ์ทุกอย่างต้องได้ดั่งใจ
6. เป็นการเรียกร้องความสนใจ
7. ขาดทักษะในการช่วยเหลือตนเอง และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ดี

วิธีการแก้ไข

1. ให้ความสำคัญต่อเด็ก เมื่อขณะที่ยังไม่กรี๊ด หรือแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ยังไม่เคยเห็นเด็กคนไหนกรี๊ดได้กรี๊ดดีอยู่ตลอดเวลา แต่พบได้บ่อยในเด็กที่เวลาประพฤติกรรมตัวดี ๆ น่ารัก ไม่ค่อยมีผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ หรือชี้ให้เด็กเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีและเหมาะสมแล้ว แต่พอเด็กกรี๊ดออกมาเท่านั้น ผู้ใหญ่จะรีบวิ่งเข้าหาเพื่อปลอบหรือให้ความสำคัญ หรือเข้าไปดุ ว่า ตี สั่งสอน ฯลฯ แต่ก็เท่ากับว่าให้ความสำคัญ
ต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนั่นเอง ทำแบบนี้ซ้ำ ๆ จนเด็กเรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องกรี๊ดเพื่อเรียกร้องความสนใจ

2. ในกรณีที่เอาแต่ใจตัวเอง ทุกอย่างต้องได้ ถ้าไม่ได้ก็จะโวยวาย เด็กลักษณะนี้ มักจะถูกเลี้ยงดูโดยการตามใจเด็กมากเกินไป จนไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่ชัด โดยที่พ่อแม่ และพี่เลี้ยงจะพยายามทำทุกอย่างตามที่เด็กต้องการ เพื่อจะได้ไม่ร้องไห้ และเด็กเอง ก็เรียนรู้ถึงอิทธิพลของการโวยวายกรี๊ดร้องว่าจะใช้เป็น “ไม้ตาย” เวลาไม่ได้ดั่งใจ เช่นกัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนท่าทีการเลี้ยงดูเด็กใหม่ อย่าคิดว่าการทำทุกอย่าง เพื่อป้องกันมิให้เด็กร้องไห้นั้น จะทำให้เด็กเติบโตขึ้นมีคนรักคนชอบมากมาย เด็กเองต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ในกฎเกณฑ์ ลดการตามใจ ฝึกให้ช่วยตนเองเพิ่มขึ้น สิ่งใดที่เล่นไม่ได้ก็อย่าให้เล่นถึงแม้ว่าเด็กจะอาละวาดขนาดไหน ก็อย่าสนใจ แต่ให้เบี่ยงเบนความสนใจไปสู่สิ่งอื่น

3. ลดการยั่วแหย่เด็ก หรือทำให้เด็กโกรธโดยไม่จำเป็น

4. ในกรณีที่มีผู้ใหญ่ที่ชอบกรี๊ด หรือโวยวายเป็นต้นแบบของวิธีที่จะเอาแต่ใจตัวเอง จำเป็นต้องพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อลดแบบอย่าง ถ้าเป็นไปได้ กรณีที่เปลี่ยนผู้ใหญ่ไม่ได้ก็ต้องแยกเด็กให้ห่างออกมา

5. ฝึกให้เด็กควบคุมอารมณ์ อารมณ์รัก ชอบ ดีใจ ไม่พอใจ โกรธ ผิดหวัง ฯลฯ
เป็นอารมณ์ที่พบได้ในเด็กวัย 3 – 5 ปี หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือสอนให้เด็กรู้ทันว่าตนเองรู้สุกอย่างไร และฝึกให้หัดควบคุมอารมณ์ หรือฝึกวิธีระบายอารมณ์ ซึ่งมีหลายวิธีตั้งแต่การพูดคุย การทำสิ่งทดแทน เช่นโกรธจัด ๆ ก็ไปเตะฟุตบอล หรือว่ายน้ำ หรือวาดรูปเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้โกรธ เพื่อที่เด็กจะได้เรียนรู้ไตร่ตรองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

6. เพิ่มทักษะในการเล่น เช่น การว่ายน้ำ เล่นบอล ถีบจักรยาน วาดรูป เล่นตุ๊กตา เล่นขายของ ฯลฯ เพราะการเล่นในเด็กมีความหมายเท่ากับการทำงานของผู้ใหญ่ ในชีวิตจริงเราพบว่าเป็นไปไม่ได้ที่ลูกจะได้ทุกอย่างตามที่ต้องการ ความผิดหวัง ความเสียใจ ความโรธแค้น จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น แต่การเล่นและการทำกิจกรรมจะทำให้เด็กผ่านภาวะเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ได้มีเวลาไตร่ตรอง และระบายความรู้สึกผ่านการเล่นนี้เอง

7. เพิ่มทักษะในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ปัญหาของเด็ก 3 – 5 ปี มักหนีไม่พ้นปัญหาในชีวิตประจำวัน เช่น ทำน้ำหก ติดกระดุมเขย่ง หารองเท้าไม่พบ ฯลฯ การฝึกหัดให้เด็กรู้จักแกปัญหาเหล่านี้ จะส่งผลทำให้เด็กมีความชำนาญที่จะแก้ไขสถานการณ์ที่ผิดหวังได้เก่งกว่าเด็กที่ช่วยตนเองไม่ได้ ซึ่งก็คงทำได้แค่ส่งเสียงกรี๊ด ๆ รอให้ผู้ใหญ่เข้ามาช่วยเหลืออีกตามเคย



พฤติกรรมของเด็กวัย 3-5 ปี
(พ.ญ. แก้วตา นพมณีจำรัสเลิศ)

                ชอบตั้งคำถาม  เด็กในวัยนี้มีพัฒนาการทางภาษาค่อนข้างมาก  สามารถเล่าเรื่องเป็นประโยคยาวๆได้  ร้องเพลงง่ายๆได้   ทำให้มักชอบตั้งคำถาม   ช่างคิด  ช่างสงสัยในสิ่งต่างๆ
                เริ่มช่วยเหลือตนเองได้  เช่น รับประทานอาหาร  แต่งตัว  ทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ด้วยตนเอง   และยังชอบช่วยผู้ใหญ่ทำงานเล็กๆน้อยๆ เราควรส่งเสริมให้เด็กเกิดความภูมิใจด้วยการชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำ  และให้ได้ลองทำสิ่งใหม่ๆด้วยตนเอง
                เล่นกับเพื่อน มักจะเล่นอยู่ในกลุ่มเพื่อน 2-3 คน ทำให้ได้เรียนรู้เงื่อนไขทางสังคมใหม่ๆที่นอกเหนือไปจากที่บ้าน  เริ่มบอกความแตกต่างระหว่างเพศได้  Piaget นักจิตวิทยากลุ่มที่เน้นความรู้ความเข้าใจ (Cognitive) กล่าวว่า เด็ก 3-5 ขวบ เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมจากเพื่อนในโรงเรียนอนุบาลหรือเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน แต่เด็กวัยนี้ยังเข้าใจถึงความถูกต้องและความผิดไม่ลึกซึ้งนัก
                มีจินตนาการ  เด็กวัยนี้ชอบของเล่นที่ใช้ความคิด  หากได้เล่นจินตนาการ  หรือแสดงบทบาทสมมุติจะเล่นได้เรื่อยๆ เป็นสิ่งที่เราควรส่งเสริมเพราะช่วยให้เด็กได้มีจินตนาการ  และเป็นการปลดปล่อย   บางครั้งเวลาให้เล่าเรื่องอาจเป็นเรื่องจริงปนเรื่องสมมุติ  พ่อแม่และผู้ปกครองควรต้องระวังไม่ให้กลายเป็นติดนิสัยโกหก  โดยไม่ควรใช้วิธีดุว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง  แต่อาจใช้วิธีการทำให้เด็กรู้ว่ากำลังพูดเรื่องโกหก เช่น
คุณแม่ – ใครทำน้ำหก
หนูเล็ก- พี่แดงทำค่ะ
คุณแม่ – พี่แดงไปโรงเรียนแล้ว จ๊ะ หนูไปเอาผ้ามาเช็ด วันหลังต้องอย่าวิ่งเวลาถือแก้วน้ำนะจ๊ะลูก

เจ้าอารมณ์  เด็กในวัยนี้มักแสดงอารมณ์ออกมาอย่างเปิดเผย  เช่น โมโห  ไม่พอใจมักแสดงอาการกระทืบเท้า   อิจฉาอะไรโดยไม่มีสาเหตุ  และกลัวอะไรอย่างสุดขีด  อาจเกิดจากสัญชาตญาณหรือระดับสติปัญญาที่เพิ่มมากขึ้น  ทำให้รู้ว่าสิ่งใดมีอันตราย

ในด้านพฤติกรรมนั้นผู้ใหญ่ควรเข้าใจว่าเด็กในวัยนี้มีจินตนาการสูง  และกำลังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้สังคมที่นอกเหนือไปจากที่บ้าน  ทำให้การแสดงออกของพฤติกรรมอาจไม่เหมาะสม  แต่จะต้องแยกตัวเด็กออกจากพฤติกรรมของเขา  เช่น จะต้องบอกว่า “ครูรักหนู แต่ครูไม่ชอบในสิ่งที่หนูทำ หนูทำแจกันแตกเป็นสิ่งที่ไม่ดี มันทำให้เกิดอันตราย” แต่ถ้ามันเป็นอุบัติเหตุก็ต้องอธิบายให้ฟังว่า ไม่เป็นไรมันเป็นเพียงอุบัติเหตุ คราวหน้าหนูควรทำอย่างนี้ และที่สำคัญครูควรต้องระวัง ป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ควรให้เด็กคิดถึงสิ่งที่เขาควรทำได้ สำหรับวัยนี้และจะต้องชมเชยเมื่อเด็กทำได้ ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง รวมทั้งเรื่องความคิด การตัดสินใจ การสร้างทัศนคติที่ดี ทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าและมีความสามารถที่จะทำได้ (Erik Homberger Erikson)

บทความที่เกี่ยวข้อง………………………………..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น