วันพฤหัสบดีที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2555

เลี้ยงลูกให้ฉลาด


วิธีสร้างเสริมความฉลาด
วิธีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความฉลาด วิธีการจริง ๆ นั้นจะมีมากมายหลากหลายในรายละเอียด มีทฤษฎีหลายทฤษฎี แต่พอจะสรุปหลัก ๆ ในการสร้างเสริมความฉลาดที่ค่อนข้างจะเห็นพ้องต้องกันมาเสนอในเรื่องต่าง ๆ ดังต่อไปนี้



ความจำ
เป็นพื้นฐานต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ที่เราจะกระทำความจำจึงเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาสมองเด็กฉลาดทุกคนจึงมักจะมีความจำดีกว่าเด็กอื่น ๆ แต่การจำในสิ่งที่ควรจำ ในเรื่องที่มีประโยชน์จะได้ผลในการฝึกสมอง และในด้านการใช้งานด้วย การจะมีความจำดีนั้นก็มีวิธีฝึกหัดหรือเทคนิคการจำที่แตกต่างกันไปเฉพาะบุคคล ไม่มีวิธีไหนที่ใช้ได้กับคนทุกคน ดังนั้นการฝึกความจำจึงเป็นเทคนิคที่จะต้องพัฒนาเอาเองในเด็กแต่ละคน
แต่ระยะฝึกหัดนั้นอาจจะเริ่มต้นทดลองฝึกหัดความจำด้วยวิธีของคนอื่นไปก่อน ก็ได้ จนเกิดวิธีของตนเองในที่สุด เช่น บางคนใช้การนั่งสมาธิช่วย บางคนใช้คำคล้องจองช่วยจำ บางคนจำเป็นตัวอักษรย่อ ฯลฯ
หลาย ๆ คนพยายามที่จะแนะนำวิธีช่วยจำ เช่น มีสมุดพกติดกระเป๋าเวลาคิดอะไรได้ก็จดไว้ จดสิ่งที่อยากจำไว้ในสมุดเสมอ อ่านออกเสียงจะทำให้จำได้ดีขึ้น และแนะนำให้ใช้เทคนิคต่าง ๆ มากเทคนิคในการช่วยจำ อย่าใช้เทคนิคใดเพียงอย่างเดียว

พ่อแม่ควรฝึกลูกให้มีกระบวนการคิดที่ดี เพราะกระบวนการคิดที่เป็นระบบจะช่วยทำให้ความจำดีขึ้น และมีการเลือกข้อมูลในการจำได้อย่างมีประโยชน์ทำให้ลูกมีความจำที่มี ประสิทธิภาพ และพัฒนาสมองให้เป็นเด็กฉลาด


หนังสือ
หนังสือเป็นแหล่งรวมความรู้อันยิ่งใหญ่เป็นโลกกว้างของเด็กและผู้ใหญ่ การอ่านหนังสือย่อมช่วยให้สมองของเราได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้น หนังสือที่น่าสนใจก็มีมากมายจนอ่าน ไม่หมด แต่นิสัยรักการอ่านจะมีหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก เป็นที่แน่ชัดว่า คนฉลาดทุกคนเป็นคนรักการอ่านหนังสืออัจฉิรยะบุคคลทุกสาขา เป็นคนรักการอ่านหนังสือ ฉะนั้นหนังสือคือปัจจัยหนึ่งในการสร้างเสริมความฉลาดให้กับตัวเราและลูกของเราได้
เด็กเล็ก ๆ ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความอยากรู้อยากเห็น โดยเฉพาะเมื่ออายุได้ 3-4 ขวบ จะมีความกระหายใคร่รู้ในทุกเรื่องจะเป็นเด็กช่างพูดช่างถาม ถามมากจนพ่อแม่อาจจะรำคาญหรือเบื่อที่คอยตอบคำถาม หนังสือจึงเป็นสิ่งที่จะมาช่วยเราได้ ถ้าลูกมีนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก เขาจะศึกษาสิ่งที่เขาอยากรู้ได้จากหนังสือ เด็กจะอ่านเรื่องที่เขาสนใจอย่างไม่รู้เบื่อ แต่ทำอย่างไรที่จะสร้างนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นได้
เด็กเล็ก ๆ ก็พร้อมที่จะอ่านหนังสือได้แล้ว เพียงแต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ คิดว่าลูกยังเล็กเกินไป การได้ฝึกการอ่านพร้อมกับการฟังการพูดนั้นเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ สามารถรับได้

ฉะนั้นการฝึกนิสัยรักการอ่านนั้นจะเริ่มโดยพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง เปิดหนังสือให้ลูกดูรูปตามไป พอโตขึ้นมาหน่อยก็หาตัวอักษรมาให้เด็กฝึกอ่าน ฝึกดูบ่อย ๆ เด็กก็จะ คุ้นเคยกับหนังสือ และเกิดนิสัยรักการอ่านขึ้นได้ แต่การฝึกนี้จะต้องไม่ใช้วิธีบังคับ จะต้องดูความพร้อมความสนใจของเด็กแต่ละคนประกอบด้วย ไม่ควรไปเร่งเร้าเด็กจนเกินไป จะทำให้เด็กเบื่อและเกลียดการอ่านได้

เมื่อลูกเริ่มมีนิสัยรักการอ่านขึ้นบ้างแล้ว ควรเลือกหนังสือที่เหมาะสมให้กับเด็ก ดังนี้

1. หนังสือประเทืองปัญญา หนังสือที่ทำให้เด็กเกิดความคิด การวิเคราะห์เหตุผลเพื่อให้เด็กรู้จักคิด มิได้เชื่อตามที่อ่านเสมอไป

2. หนังสือประเทืองจิตใจ ช่วยให้เกิดความประทับใจ ความบันดาลใจ ความงดงามของจิตใจ มีคุณธรรม เช่น หนังสือโคลง กลอน ธรรมะ ประวัติบุคคลสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น
3. หนังสือที่เด็กสนใจ จะเป็นเรื่องแนวใดก็ได้ เลือกที่มีประโยชน์เหมาะสมให้กับลูกเราได้เลย แต่ไม่ควรจะให้พร้อมกันทีเดียวหลายเล่ม เด็กจะอ่านไม่ทัน แล้วเบื่อเสียก่อน

การฝึกหัดการอ่านหนังสือนี้ ต้องให้เด็กเกิดความสนใจในตัวหนังสือ อ่านให้สนุกสนาน ตัวหนังสือใหญ่และมีสีสันสวยงาม อ่านเมื่อเด็กพร้อมจะอ่านเท่านั้น

หนังสือคือประตูเปิดออกไปสู่โลกกว้าง รีบเปิดประตูนี้ให้กับลูกของท่านเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ เด็กพร้อมอยู่แล้วที่จะเรียนรู้ แล้วพ่อแม่ล่ะพร้อมหรือยั

ความคิดสร้างสรรค์
คือกระบวนการทางปัญญาระดับสูงที่นำเอาความคิดหลาย ๆ อย่างมารวมกันเพื่อให้เกิดความคิดใหม่ ๆ ซึ่งแตกต่างไปจากความคิดเดิม ๆ

ความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นการพัฒนาของสมองที่ได้ประโยชน์อย่างมาก เด็ก ๆ จะมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลาโดยธรรมชาติ แต่เมื่อโตขึ้นความคิดสร้างสรรค์จะถูกบั่นทอนให้ลดน้อยลงโดยไม่รู้ตัว อาจเนื่องมาจากกรอบสังคมขนบประเพณีต่าง ๆ และที่สำคัญคือ จากพ่อแม่ที่คอยห้ามปรามลูกไม่ให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ด้วยกลัวว่าลูกจะมีความคิดผิดไปจากคนอื่น จะเพี้ยน หรือจะมีอันตราย เด็กที่อยู่ในอำนาจการควบคุมปกครองอย่างเข้มงวด จะไม่มีอิสระทางความคิด จะไม่สามารถคิดอะไรที่สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ออกมาได้ ฉะนั้นพ่อแม่ที่ต้องการให้ลูกฉลาดจึงควรปล่อยให้ลูกได้มีจินตนาการทดลองความคิดที่แตกต่างจากเพื่อน เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ อย่าเอาตัวเราเองเป็นเกณฑ์ตัดสินจนเกินไป

วิธีที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้ลูกพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีข้อแนะนำดังนี้
1. ให้ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะความรู้นี้เป็นพื้นฐานของความคิด ความคิดใหม่จะเกิดจากการดัดแปลงความคิดเต็มเสมอ ยิ่งมีความรู้มากเท่าไรการมองปัญหาจะยิ่งกว้างและเกิดความคิดใหม่ได้ง่าย
2. เปิดใจรับสิ่งใหม่ ต้องฝึกเด็กให้เป็นคนใจกว้าง พร้อมที่จะรับสิ่งใหม่ ๆ เปลี่ยนแปลงความคิดได้ ถ้ายึดติดกับความคิดเดิมจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้อย่างไร
3. มองต่างมุม ต้องฝึกให้มองในมุมกลับ มุมอื่นที่แตกต่างจากคนอื่น คำตอบของปัญหาไม่ได้มีคำตอบเดียวอาจมีหลายคำตอบที่แตกต่างแต่ล้วนถูกต้องทั้งสิ้นก็ได้ ต้องพยายามหาคำตอบให้มากกว่าหนึ่งเสมอ

ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ฝึกให้เกิดขึ้นได้ โดยเริ่มจากการมีความรู้เป็นพื้นฐาน จากนั้นเริ่มการคิด การรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสังเคราะห์ให้เกิดความคิดใหม่ ซึ่งช่วงนี้ต้องใช้เวลาคิดทบทวนพอสมควร เมื่อถึงจุดหนึ่งจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาทันทีโดยฉับพลัน เมื่อได้ความคิดใหม่แล้ว ก็เป็นขั้นตอนการพิสูจน์ความคิดนั้นว่าจะใช้ได้ดีหรือไม่

เด็กที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ ต้องการเวลาคิด ฉะนั้นพ่อแม่ควรให้ลูกได้มีเวลาหยุดพักความคิดบ้าง อย่าให้เขาต้องใช้เวลากับสิ่งหนึ่งสิ่งใดมากเกินไป เช่น การเรียนหนังสือที่ต้องเรียนพิเศษในวันหยุดอีก เด็กจะขาดเวลาที่จะเล่นหรือพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ไป

เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์อาจจะดูแตกต่างไปจากเด็กอื่น ๆ คือ จะมีลักษณะชอบขบคิดปัญหาที่ซับซ้อน มีความมุมานะที่จะทำให้สิ่งที่คิด แม้คนอื่นจะไม่เห็นด้วย กล้าที่จะ แตกต่างจากเพื่อน

เมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกของเรามีลักษณะที่จะมีความคิดสร้างสรรค์ ก็ควรจะสนับสนุนให้เขาได้พัฒนาความคิดต่อไป การพัฒนานี้จะออกมาในรูปทางความคิด เช่น

1. มีความคล่องตัว คือสามารถคิดได้เร็ว
2. มีความหลากหลาย คือคิดได้แตกต่างไปจากความคิดเดิมได้มาก
3. มีความแปลกใหม่ ไม่ยึดติดกับกรอบเดิมที่กำหนดเอาไว้
4. มีความละเอียด สามารถใช้ความคิดมองสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น

หนทางที่จะช่วยลูกให้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ต่อไป คือ
1. คบหากับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์
2. เกิดความคิดใหม่ให้จดบันทึกทันที
3. สร้างอารมณ์ขันให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ
4. คิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้
5. ถามคำถามที่จะช่วยให้เกิดจินตนาการ เช่น ถ้าคนในโลกนี้มีแต่ผู้ชาย จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
6. ถ้าเห็นลูกฝันกลางวัน อย่าดุด่าเขาอาจกำลังคิดอยู่
7. สนับสนุนให้เขาเล่มเกมที่ใช้ความคิด เช่น หมากฮอส หมากรุก ฯลฯ
8. คิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
9. อย่ามองข้ามความคิดเล็ก ๆ น้อย ๆ
10. ให้เด็กได้แสดงออกทางการวาดภาพ เขียนหนังสือ ถ่ายภาพ เล่นละคร ฯลฯ

นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกที่พ่อแม่จะเพิ่มเติมเข้าไปตามความเหมาะสม โดยยึดหลักว่าให้เขามีอิสระทางความคิด และคิดอะไรก็ได้ตามใจ โดยไม่มีการตัดสินว่าผิดหรือถูก ความคิดสร้างสรรค์ก็จะหลั่งไหลออกมาอย่างไม่ขาดสาย

สิ่งที่จะคอยสกัดกั้นความคิดสร้างสรรค์ไม่ให้เกิดขึ้นที่เขาควรจะขจัดออกไป มี ดังนี้
1. คิดว่าอะไร ๆ ควรมีคำตอบเดียว
2. ปิดกั้นความคิดตัวเองจากกรอบของสังคม
3. ความเคยชิน เคยทำมาอย่างไรก็ทำตามเดิม
4. ไม่สนใจสิ่งใหม่
5. สรุปความคิดเร็วเกินไป ไม่รอบคอบ
6. กลัวที่จะทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่น
พ่อแม่ควรระมัดระวังอย่านำสิ่งเหล่านี้มาส่งเสริมให้กับลูกเข้าโดยไม่รู้ตัว นั่นเพราะอาจเป็นความเคยชินของพ่อแม่เอง


การแก้ปัญหา
สังคมของเราเต็มไปด้วยปัญหาร้อยแปดพันประการ การจะแก้ปัญหาให้ได้ผลโดยไม่ทุกข์มากนัก ต้องมีการเรียนรู้และฝึกหัดซึ่งถ้าฝึกเสียตั้งแต่เด็กได้ก็จะเป็นผลดี สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

การฝึกหัดลูกรู้จักแก้ปัญหานั้น จะอาศัยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น สภาพแวดล้อมทางบ้าน ควรมีการฝึกแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ กันบ่อย ๆ ให้เด็กได้เห็นตัวอย่างการแก้ปัญหา จะได้มีประสบการณ์ ฝึกให้รู้จักการเสี่ยงบ้าง ต้องยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม ฝึกความคิดสร้างสรรค์ไปด้วย อย่าเพิกเฉยเมื่อลูกมีปัญหาให้ช่วย
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ควรมีแนวคิดในการพิจารณา ดังนี้
1. ปัญหาไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หาแง่ดีของปัญหาให้ได้
2. มองปัญหาหลัก ปัญหารอง แก้ไขทีละจุด
3. ปัญหาที่เกิดขึ้น ต้องแยกให้ออกว่าเป็นปัญหาจริง ๆ หรือว่าจินตนาการไปเอง
4. หาขั้นตอนการแก้ไขก่อน ค่อยหาวิธีแก้ไข
5. หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เช่น ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นหรือไม่แก้ไขอย่างไร
6. เตรียมการแก้ปัญหาไว้หลาย ๆ แบบ
7. เปลี่ยนวิธีแก้ปัญหาให้หลากหลายขึ้น
8. อาจหากระดาษมาลองบันทึกดูว่าจะทำอะไรบ้างอย่างเป็นขั้นตอนในการแก้ปัญหา
นอกจากนี้เมื่ออยู่ว่าง ๆ ไม่มีปัญหาอะไรก็ลองสร้างสถานการณ์ของปัญหาขึ้น และฝึกหัดแก้ไขกัน เล่นเป็นเกมสนุก ๆ กันระหว่างพ่อแม่ลูก

ศิลปะดนตรี
เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เด็กได้อยู่ใกล้ชิดกับจิตวิญญาณของตนเอง ปล่อยจิตใจและความคิดให้เป็นอิสระ อันจะเป็นพื้นฐานในการฝึกและพัฒนาสมองทางด้านอื่น ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

การฝึกศิลปะทางดนตรี หรือวาดภาพเป็นเรื่องที่เด็กจะได้รับจากทางบ้าน โดยพ่อแม่มากกว่าทางโรงเรียน ซึ่งจะเน้นที่วิชาการอื่น ๆ เสียมากกว่า ถ้าเด็กขาดแคลนศิลปะทางด้านนี้ จะทำให้การพัฒนาสมองล่าช้าไปอย่างน่าเสียดาย

พ่อแม่จะช่วยพัฒนาสมองลูกได้โดยการให้ลูกของเราได้มีโอกาสใกล้ชิดกับงานศิลปะไม่ว่าจะเป็น ดนตรี ภาพวาด การแสดง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ถ้ามีความหลากหลายมากยิ่งดี เด็กจะได้รับข้อมูลมากขึ้น และกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้เป็นอย่างดี ให้ลูกได้ฟังเพลงในจังหวะ ต่าง ๆ เพลงหลายแบบทั้งเพลงไทยเดิม สากล ร็อค ดูคอนเสริต์ หัดเล่นดนตรี เริ่มจากตีกระป๋อง เคาะแก้ว ไปจนถึงเครื่องดนตรีจริง ๆ อุปกรณ์ช่วยเสริมจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศิลปะด้านนี้ของเด็ก

เด็กที่มีพื้นฐานทางดนตรีดี มักจะมีลักษณะที่ชอบเสียงดนตรี สามารถแยกแยะจังหวะและระดับเสียงได้ สนใจเรื่องภาษาโน้ตดนตรี ฯลฯ ถ้าเด็กมีแววทางด้านดนตรีเป็นทุนเดิมอย่างนี้ การส่งเสริมสนับสนุนจากพ่อแม่จะช่วยให้เด็กพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก แต่ถึงลูกจะไม่มีความสนใจดนตรีเลย เราก็ควรส่งเสริมเช่นกัน

เด็กที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปะนี้ จะเป็นความสามารถเฉพาะด้านไม่ได้เกี่ยวข้องกับระดับสติปัญญาแต่อย่างใด ฉะนั้นการที่เด็กเรียนเก่งหรือไม่นั้น ไม่เกี่ยวกับ การพัฒนาทางด้านนี้ ซึ่งเด็กทุกคนควรจะได้รับ เพราะการพัฒนาทางศิลปะมีความสำคัญไม่แพ้การพัฒนาทางด้านสติปัญญาหรือด้านอื่น ๆ พ่อแม่ต้องจัดเวลาให้กับลูกด้วย อย่าเอาเวลาทั้งหมดมุ่งไปที่การเรียนหนังสือเพื่อสอบอย่างเดียว เพราะการพัฒนาทางศิลปะนี้ จะช่วยการพัฒนาด้านอื่น ๆ ให้เจริญงอกงามได้เร็วขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญกับการพัฒนาศิลปะมากเท่าไรนัก เด็กของเราจึงมักจะเป็นคนฉลาดที่ไม่ค่อยมีจินตนาการ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อสังคมได้ เพราะขาดความละเอียดอ่อนทางด้านจิตใจ

การเล่น
เด็กทุกคนสนใจการเล่นอยู่แล้ว ฉะนั้นพ่อแม่ควรจะส่งเสริมการเล่นชนิดที่สัมพันธ์กับความอยากรู้อยากเห็นของลูก เลือกการเล่นให้เหมาะสมกับวัยด้วย จะได้ประโยชน์อย่างมาก

เด็กใช้การเล่นเป็นการรู้จักเข้าสังคมเริ่มมีเพื่อนมีการแลกเปลี่ยนของเล่นมี การแย่งของเล่น ฯลฯ เด็กจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น เกิดปัญหาและเรียนรู้การแก้ปัญหาและเกิดความชำนาญมากขึ้นในเรื่องต่าง ๆ
การสอนลูกให้เล่นอย่างมีประโยชน์มีเป้าหมายจะต้องค่อย ๆ สอนอย่างช้า ๆ ให้ลูกตามได้ทัน พ่อแม่เพียงแต่แนะนำวิธีเล่นเบื้องต้นเท่านั้น เด็กจะสามารถเล่นได้เอง

มีข้อแนะนำพ่อแม่เกี่ยวกับการเล่นของลูกดังนี้
1. ให้ลูกเป็นผู้ริเริ่มการเล่น และจัดการการเล่นของเขาเอง เราเพียงคอยชี้แนะบางจุด
2. เมื่อลูกทำผิด ให้ลูกรู้จักแก้ปัญหาเองบ้าง
3. ให้รางวัลเมื่อลูกมีความคิดริเริ่มใหม่ ๆ
4. ฝึกลูกให้รู้จักทดลองในสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ และหาวิธีใหม่ ๆ
5. การเล่นควรสัมพันธ์กับความสนใจของลูก
6. ไม่ควรยัดเยียดความรู้ให้กับลูกมากเกินไป
การเล่นของเด็กเป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติ พ่อแม่เพียงแต่คอยดูแลระมัดระวังอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ และส่งเสริมให้ลูกได้รู้จักเล่นเกม เล่นกับเพื่อน เล่นของเล่นและเล่นสิ่งอื่น ๆ ที่จะช่วยในการพัฒนาสมองของเด็ก ซึ่งพ่อแม่จะเป็นผู้ที่เลือกหามาให้ลูกได้ เช่น หมากฮอส หมากรุก ตัวต่อ ภาพต่อ ฯลฯ ซึ่งเป็นของเล่นที่สร้างสรรค์ความฉลาดให้กับเด็กได้


ข้อมูลจาก : ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย
http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/41003/index.htm 


+++บทความที่เกี่ยวข้อง+++

++การเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี
http://smartkidlink.blogspot.com/2012/03/blog-post_15.html 

++การเลี้ยงลูกให้ฉลาด
http://smartkidlink.blogspot.com/2012/03/blog-post.html 

++รวมบทความ การเลี้ยงดู และพฤติกรรมเด็กวัย 3 ขวบ
http://smartkidlink.blogspot.com/2010/12/3.html 

++รวมภาพระบายสีสำหรับเด็ก ภาพการ์ตูน ภาพสัตว์ ภาพประกอบการเรียนรู้
http://smartkidlink.blogspot.com/2010/12/blog-post.html 

+รวมแบบฝึกหัดสำหรับเด็กอนุบาล
http://smartkidlink.blogspot.com/2013/05/blog-post.htm
l

1 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น